Article

ภูเก็ต : ทำไมคอร์รัปชันเยอะจัง

โดย act โพสเมื่อ Feb 13,2017

คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์แห่งสถาบันอิศราและผมได้เดินทางมาภูเก็ตเพื่อพบกับคนสามกลุ่มคือ พ่อค้าแม่ค้า นักธุรกิจนักลงทุนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน ทำให้ได้รับฟังข้อมูลสารพัดการโกง รีดไถ ข่มเหงรังแกและการฉกฉวยผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น แม้จะรู้ดีว่าพฤติกรรมชั่วร้ายแบบนี้มีทั่วประเทศ แต่จากข้อมูลและหลักฐานจำนวนมากแล้วพูดได้ว่าที่นี่มีมากและทำกันโฉ่งฉ่างแบบไม่เกรงกลัวใคร


ส่วยร้านค้า ร้านอาหาร 

ทุกวันนี้มีคนมาเก็บส่วยรายเดือนจากร้านค้าร้านอาหาร โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จาก 12 หน่วยงาน ได้แก่ ตำรวจท้องที่ ตำรวจท่องเที่ยว ตม. กองปราบ ตชด. สืบฯ จังหวัด สืบฯกอง 5 ตำรวจภาค 8 หน่วยป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ แรงงาน อบต.หรือเทศบาล และ ผู้ว่าฯ ส่วนเหตุที่ใช้ข่มขู่หรือจับกุมนั้นมีมากแต่ข้อหายอดฮิตคือการใช้แรงงานต่างด้าว 
พวกเขาจะ “ตีเมืองขึ้น” เพื่อโชว์อำนาจก่อน โดยจับร้านค้าหรือจับคนงานไปโรงพักแต่มักจบด้วยการเรียกเงินแทนการดำเนินคดี เช่น จับลูกจ้างชาวพม่าจะเรียกหัวละ 2 หมื่นบาทแล้วปล่อยตัว จากนั้นจะเปิดเจรจาเก็บส่วยรายเดือนๆ ละ 1 พันบาทต่อร้าน บางพื้นที่อาจคิดเหมา เช่น ในซอยนี้มี 8 ร้านค้าใหญ่ก็ให้ไปลงขันกันมาให้ได้ 2 หมื่นบาทอย่างนี้ก็มี

แม่ค้าคนหนึ่งเล่าว่า เคยโดนคนของกองปราบจับเด็กเสิร์ฟไปดำเนินคดีและจ่ายค่าปรับที่ศาลแล้วแต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ยอมปล่อยตัวและเรียกเงิน 8 พันบาทเธอต่อรองจ่ายไป 4 พันบาทลูกจ้างเธอจึงได้รับอิสระมา

วิธี “เก็บส่วย” จะมีคนมาเดินเก็บสายใครสายมัน เช่น พวกที่อ้างว่าเป็นคนของผู้ว่าฯ จะใช้ อส. ถ้าเป็นของตำรวจมักใช้คนนอกมาเดินเก็บ บางคนมาเก็บในนามสองหน่วยงานก็มี ซึ่งแน่นอนว่าหลังจ่ายส่วยแล้วจะไม่มีการมาไล่จับกันอีก เว้นแต่บางทีเขาจะมาบอกตรงๆ ว่า ช่วงนี้เบื้องบนสั่งให้เข้มงวดขอให้ร้านค้าหยุดไปก่อนหรือมา “ขอจับ” เพื่อทำสถิติไว้บ้าง

เมื่อถามว่าทำไมไม่ไปขึ้นทะเบียนคนงานต่างชาติให้ถูกต้อง คำตอบคือ ค่าเท่ากันเพราะแค่เจ้าหน้าที่แกล้งมาจอดรถหรือมายืนให้เห็น คนงานก็กลัววิ่งหนีทิ้งงานทิ้งลูกค้าหมด คนงานพกสำเนาใบอนุญาตก็ไม่ได้ บางครั้งเรียกคนงานมาตรวจเอกสารก็แกล้งให้นั่งตากแดดเป็นชั่วโมงๆ แล้วปล่อยตัวไปเฉยๆ ก็มี คนงานนั่งรถสองแถวไปเที่ยวในเมืองหรือไปต่างอำเภอก็ผิดแล้วเพราะออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาต ที่ไม่เข้าใจจริงๆ ก็คือ เวลาไปจดทะเบียนเขาให้เลือกว่าเป็น “กรรมกรหรือคนทำงานบ้าน” เท่านั้น ดังนั้นการทำงานในร้าน อาหารหรือโรงแรมไม่ว่าตำหน่งใดจึงถือว่าผิดเงื่อนไข

ส่วยนักธุรกิจและชาวต่างชาติ

ที่ภูเก็ตนอกจากคนไทยแล้วยังมีชาวต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจจำนวนมากไม่แพ้กัน ทั้งในธุรกิจโรงแรม หมู่บ้านจัดสรร นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ บริการท่องเที่ยว ผับบาร์ ร้านอาหาร ศูนย์การค้า สอนดำน้ำ สอนภาษาหรือแม้แต่ให้เช่ารถเช่ามอร์เตอร์ไซค์ เหตุนี้จึงมีคนต่างชาติเข้ามาเป็นลูกจ้างทำงานในธุรกิจต่างๆ อยู่เต็มเกาะมีทั้งถูกและผิดกฎหมาย

สำหรับธุรกิจโรงแรม ประเมินกันว่าทั่วประเทศมีโรงแรมเถื่อนอยู่ร้อยละ 65 แต่ที่ภูเก็ตจะมีมากถึงร้อยละ 85 (ผมเคยเขียนไว้เมื่อ 30/11/59) โรงแรมจำนวนมากยังถือเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่มีปัญหา แย่งที่ทำกินชาวบ้านหรือบุกรุกที่สาธารณะ มีโรงแรมเก่าแก่รายหนึ่งถึงขนาดเอาที่สัมปทานเหมืองแร่ของรัฐมาออกโฉนดได้มากถึง 600 ไร่ และเป็นที่รู้กันว่าโรงแรมที่ก่อสร้างหลังปี 2554 เกือบทั้งหมดล้วนมีความสูงของอาคารที่ฝ่าฝืนประกาศผังเมืองฉบับใหม่ แต่ไม่ว่าจะเถื่อนหรือถูกกฎหมายก็ยังมีการหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าธรรมเนียมบำรุงท้องที่และภาษีต่างๆ มูลค่านับพันล้านบาทต่อปี ทั้งหมดนี้ทำกันมานานเจ้าหน้าที่ก็รู้เห็นแต่เลือกที่จะรับเงินใต้โต๊ะแล้วปิดหูปิดตากันมาตลอด

เพียงแต่ว่าโรงแรมที่ผิดกฎหมายจะมีเรื่องให้ต้องจ่ายส่วยมากขึ้นเพื่อทำให้ธุรกิจอยู่ได้ และเมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่จะบังคับให้โรงแรมเหล่านี้ต้องทำให้ถูกต้อง ก็มีข่าวเปิดการเจรจาเรียกเงินรายละประมาณ 2 ล้านบาทเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดีแล้ว


มีนักธุรกิจต่างชาติพูดกับผมว่า 
“อยู่เมืองไทยจะทำถูกกฎหมายเป็นไปไม่ได้ เพราะคนไทยยังจ่ายแต่ฝรั่งต้องจ่ายมากกว่า”

เวลาที่พวกเขาไปยื่นเอกสารจดทะเบียนทำธุรกิจ แม้เอกสารครบแต่เรื่องไม่เดินมันจะกองอยู่อย่างนั้นโดยไม่รู้ว่าเพราะอะไร ถามมากเจ้าหน้าที่ก็หงุดหงิด ในที่สุดใครๆ ก็จ่าย พอจ่ายเงินแล้วเจ้าหน้าที่ก็บอกโอเค โอเค ยูไปทำงานไปเปิดร้านค้าได้ไม่มีการพูดถึงเอกสาร ฝรั่งรำคาญก็ยอมตามนั้นแต่ผ่านไปวันดีคืนดีก็จะมีเจ้าหน้าที่มาจับเขาอีกเพราะไม่มีเอกสารไม่มีใบอนุญาต ทุกวันนี้ต่างชาติจึงกลัวเมืองไทยเพราะอะไรก็ต้องจ่ายสินบน ถึงจ่ายแล้วเรื่องก็ไม่จบและไม่สนใจด้วยว่าจะโดนใครเข้ามาเล่นงานซ้ำอีก

ฝรั่งรายหนึ่งอยู่เมืองไทยมา 18 ปี เคยโดนคนในเครื่องแบบหลายนายบุกมาที่บริษัทของเขาขู่จะจับตัวไปดำเนินคดีที่โรงพักหากไม่ยอมจ่ายเงิน 6 หมื่นบาท ด้วยความกลัวเขาจึงยอมจ่ายไป 5 หมื่นบาท โดยมีเงื่อนไขว่าต่อไปเขาต้องจ่ายเป็นรายเดือนๆ ละ 5 พันบาท เขายังบ่นให้ฟังอีกว่า ไม่รู้เพราะอะไร 2 ปีนี้คนต่างชาติโดนหนักมากหรือจะเป็นเพราะรู้กันแล้วว่ารัฐบาลทำอะไรพวกเขาไม่ได้

จากการสอบถามพบว่านักธุรกิจอาจต้องจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ทุกสีมากถึง 26 หน่วยงาน เป็นสีกากีเสีย 10 หน่วยและนี่อาจเป็นที่มาของข่าวลือว่าสีกากีหาดป่าตองมีรายได้พิเศษมากถึง 30 ล้านบาทต่อเดือน

เสียงสาปแช่งของชาวบ้าน

ผมยังได้ไปดูสถานที่ที่ชาวบ้านเชื่อกันว่ามีการคอร์รัปชันหลายแห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ 180 ล้านบาท การสร้างทางจักรยานในสวนหลวงระยะทาง 4 กม. มูลค่า 14 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เป็นทางทำใหม่เพียง 2 กม. และใช้ถนนเก่ามาตีเส้นทาสีใหม่อีก 2 กม.

“มีวัยรุ่นฝรั่งโดยตึกตายมาแล้วนับสิบรายแล้ว ดูเผินๆ คนคิดว่าเป็นเรื่องของคนคลั่งเมายา แต่เบื้องหลังคือมีผับบาร์จำนวนมากเห็นแก่ได้ ขายเหล้าผสมยาบ้าเพื่อเรียกลูกค้า เจ้าหน้าที่ก็รู้ว่าใครทำอะไรแต่ทุกคนเอาเลือกเอาเงิน โดยไม่สนว่าจะมีคนตายหรือเสียชื่อเสียงของประเทศอย่างไร” เป็นอีกตัวอย่างความเลวร้าย

ที่เล่ามาบางส่วนนี้คือความทุกข์ของคนภูเก็ต วันนี้มีเพียงมาการบอกเล่าเอาหลักฐานมาให้ดูโดยไม่มีใครกล้าเปิดเผยตัวหรือเป็นพยานให้เพราะกลัวจะได้รับอันตราย แน่นอนว่าในสังคมที่มีคอร์รัปชันรุนแรงเช่นนี้การต่อสู้ของคนในท้องถิ่นตามลำพังเป็นเรื่องยาก

แต่การเอาชนะนั้นมีทางเดียวคือ

คนภูเก็ตต้องรวมตัวกันสู้ สู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อศักดิ์ศรีและอนาคตของทุกคน สู้ให้เป็นแบบอย่างของคนไทยทั้งประเทศ เพียงแต่ขอให้รัฐบาลสนับสนุนและปกป้องมิให้พวกเขาถูกอำนาจมืดรังแกกันง่ายๆ เท่านั้นเอง

ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
13 กุมภาพันธ์ 2560


ข่าวที่เกี่ยวข้องอ่านเพิ่มเติม : goo.gl/Lg1wRd

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : 

Pik2003

http://www.phuketonlinenews.com

http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9590000022892

http://www.bansuanporpeang.com/node/28966